วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

คาทอลิกกับความเชื่อถือ เรื่องเทวดา

คุณพ่อ ไพบูลย์ อุดมเดช C.Ss.R.


(บทความนี้เป็นคำนำของหนังสือ "เทวดาเพื่อนของเรา" ที่นิตยสารอิสระจัดพิมพ์เป็นฉบับพิเศษ(ประจำเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2002) ปลายปี 2002 คุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช แนะนำ บก.ว่ามีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องเทวดาที่คุณ Little Angel กำลังพิมพ์ลงในเว็บบอร์ดของเรา บก.จึงติดต่อคุณ Lettle Angel และได้ทราบว่าเป็นเรื่องจากหนังสือ "เทวดาเพื่อนของเรา" ซึ่งจัดพิมพ์โดย อารามกาปูชิน "ราชินีแห่งสันติภาพ" ท่าแร่ สกลนคร หนังสือเล่มนี้คุณพ่ออังเยล เปญา เขียน และคุณพ่อนรินทร์ ศิริวิริยานันท์ เป็นผู้แปล บก.จึงติดต่อและได้รับอนุญาตจากคุณแม่อธิการิณีให้ตีพิมพ์ใหม่ได้ ทางสำนักพิมพ์คณะพระมหาไถ่ขอขอบคุณอารามกาปูชิน "ราชินีแห่งสันติภาพ" คุณพ่อนรินทร์ ศิริวิริยานันท์ คุณ Little Angel และคุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช มา ณ ที่นี้)
"ข้าแต่อารักขเทวดาพระเป็นเจ้าทรงกรุณามอบข้าพเจ้าไว้ในความอารักขาของท่านโปรดส่องสว่างพิทักษ์รักษาข้าพเจ้าไว้ในความคุ้มครองของท่านตลอด ณ คืนนี้ด้วยเถิดอาแมน"

บทภาวนานี้ข้าพเจ้าเคยสวดเกือบทุกคืนตอนเป็นเด็ก แต่ก็จำไม่ได้แล้วว่าตัวเองเริ่มห่างเหินบทภาวนานี้ตั้งแต่เมื่อไหร่และทำไม? ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังสวดบทนี้บ้างเป็นบางครั้งบางคราว ถ้าจะถามว่าเพราะอะไรถึงห่างเหิน คำตอบน่าจะเป็นเพราะรู้สึกว่าบทภาวนานี้เป็นบทภาวนาของเด็ก ตอนนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ดูแลตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องไปรบกวนอารักขเทวดา ปล่อยให้ท่านทำหน้าที่ดูแลเด็กๆที่เกิดขึ้นมามากมายในแต่ละวันดีกว่า กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว คำแก้ตัวดังกล่าวก็ไม่ค่อยจะมีน้ำหนักเท่าไหร่นัก เพราะจริงๆแล้วในสายพระเนตรของพระเจ้าและในชีวิตจริงๆของตัวเองนั้น ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเสมอ และไม่ผิดอะไรกับเด็กทารกที่บ่อยครั้งมักจะถือตัวเป็นใหญ่ มองความชั่วร้ายรอบด้านด้วยสายตาแห่งความโง่เขลาและหัวใจที่เต็มไปด้วยความประมาทในชีวิต.....ถึงเวลาแล้วกระมังที่จะทบทวนบทบาทของเทวดาในชีวิตของตัวเองเสียใหม่

คาทอลิกกับความเชื่อถือเรื่องเทวดา

ตามคำสอนเรื่องเทวดาในธรรมเนียมคาทอลิกนั้นมีพื้นฐานมาจากพระคัมภีร์ และในธรรมเนียมคาทอลิกมองเทวดาตามบทบาทและหน้าที่มากกว่ามองในแง่อื่น ท่านเดนิสแห่งอาโรปาไกท์ ( Dionysius the Areopagite d.ca. 500) เป็นคนแรกที่ได้แบ่งฐานันดรของเหล่าเทวัญชาวสวรรค์ออกเป็น 3 ชั้นและ 9 คณะ ดังต่อไปนี้ (ผมใช้คำว่า เทวัญ หมายถึงสมาชิกชาวสวรรค์ทั้งปวงที่เป็นสิ่งสร้างรองจากพระเจ้า)

ชั้น เอก มี

1) คณะเซราฟิม( Seraphim) เทวัญคณะนี้มีหน้าที่ล้อมรอบพระบัลลังก์ของพระเจ้า ร้องสรรเสริญพระเจ้าว่า.ศักดิ์สิทธิ์.. ตามนิมิตที่ท่านประกาศกอิสยาห์เห็น (อสย.6.2-7) มี 6 ปีก สองปีคลุมหน้า สองปีกคลุมเท้า และอีกสองปีกสำหรับบิน จากนิมิตนี้เองบรรดาศิลปินยุคหลังจึงมักจะวาดภาพของเทวดาว่ามีปีกเสมอ (ทั้งๆที่ไม่จำเป็นว่าเทวดาต้องมีปีกเสมอไป)

2) คณะเครูบิม (Cherubim) บรรดาเทวัญเหล่านี้มีหน้าที่คอยปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า รับพระบัญชาจากพระองค์โดยตรง พระคัมภีร์บอกว่าเทวัญเหล่านี้เองที่ทำหน้าที่ขับไล่อาดัมและเอวาให้ออกจากสวนสวรรค์หลังจากที่ทำผิด

3) คณะบัลลังก์ (Throne) ตามนิทานของชาวยิวเทวัญคณะนี้มี 70 ตำแหน่ง คอยปกป้องพระบัลลังก์ของพระเจ้า เทวัญเหล่านี้บางองค์ได้มีส่วนสมคบกัน ก่อกบฏต่อพระเจ้าและได้กลายเป็นปีศาจหรือเทวัญตกสวรรค์ไปก็มี จะเห็นได้ว่าแม้สมาชิกสวรรค์เองก็เห็นผิดเป็นชอบได้เหมือนกัน

ชั้น โท มี

1) คณะหัวหน้า (Dominations) เทวัญคณะนี้มีหน้าที่คอยจัดสรรและมอบหมายหน้าที่การทำงานให้แก่บรรดาเทวดาต่างๆให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า สัญลักษณ์แห่งอำนาจของพวกเขาคือ คธาและลูกโลก

2) คณะคุณธรรม (Virtues) ตามนิทานของชาวยิว หน้าที่หลักของเทวัญคณะนี้คือการทำอัศจรรย์ต่างๆในโลก บทบาทนี้พบได้ในหนังสือกิจการอัครธรรมทูต 1.10

3) คณะอำนาจ (Powers) เทวัญหมวดนี้มีหน้าที่ดังทหารกล้าคอยต่อสู้กับปีศาจและคอยปกป้องโลกไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจของปีศาจ แต่บางครั้งก็ พลาดท่าตกเป็นตัวร้ายเสียเองก็มี เช่นที่บันทึกไว้ใน จดหมายถึงชาวโรม 8.38-39 ดังนั้นเป็นเทวดาก็มีสิทธิ์พลาดได้เหมือนกันหากหลงตัวเอง

ชั้น ตรี มี

1) คณะปกครอง (Principalities) ชื่อของเทวัญหมวดนี้มาจากภาษากรีกเก่าซึ่งแปลได้ว่า ผู้ปกครอง (Rulers)ผมจึงแปลเทวัญคณะนี้ว่าคณะผู้ปกครอง หน้าที่ของพวกเขาคือคอยปกป้องศาสนา คอยดลใจบรรดาผู้นำประชาชนให้ตัดสินใจนำผู้อื่นไปในทางที่ถูกต้อง ในพระคัมภีร์กล่าวถึงเทวัญ กลุ่มนี้ว่าเกี่ยวข้องกับอำนาจทั้งทางดีและร้าย (อฟ 6.12: 2.22)

2) คณะอัครเทวดา (Archangels) เทวัญเหล่านี้ถ้าแปลตามตำแหน่งก็แปลได้ว่าหัวหน้าเทวดา แต่หน้าที่จริงๆนั้นไม่มีใครทราบ มีบันทึกถึงบทบาทและ ชื่อของอัครเทวดาเหล่านี้ว่ามี เทพมีคาเอล (ได้ปราบเทพกบฏอื่นๆ) เทพราฟาเอล (ในหนังสือโทบิต) เทพกาเบรียล (ช่วยดาเนียลเข้าใจนิมิตที่เห็น และเป็นผู้นำสาส์นมาแจ้งแก่พระนางมารีย์ถึงการรับเอากายของพระบุตร) หนังสือเอโน๊คบทที่ 1 ได้บอกว่าเทวัญคณะนี้มี 7 องค์คือ เทพ อูเรียล เทพรากูเอล เทพมีคาแอล เทพเซราเควล เทพกาเบรียล เทพฮาเนียล แลเทพราฟาแอล

3) คณะเทวดา (Angels) คำว่าเทวดาที่เราหมายถึงและพบทั่วไปในพระคัมภีร์ก็อยู่หมู่เทวัญคณะนี้ เทวัญคณะนี้มีมากมายและมีหน้าที่หลายอย่างเช่น คอยปกป้องดูแลมนุษย์ คอยทูลพระเจ้าแทนมนุษย์ อารักขเทวดาก็อยู่ในกลุ่มเทวัญคณะนี้เช่นกัน เทวัญคณะนี้มีตัวร้ายอยู่ด้วย(ตามที่พระคัมภีร์บอก)เทวัญที่ชื่อ ซาตาน ก็อยู่ในคณะนี้ เพราะฉะนั้นเทวดาก็มีสิทธิ์เป็นตัวร้ายได้เช่นกันให้ระวังเทวัญร้ายในคราบเทวัญดีให้มากไว้




เทวัญดีเรียก "เทวดา" เทวัญร้ายเรียก "ปีศาจ"

ถ้าหากจะเอาพระคัมภีร์เป็นข้ออ้างเราก็ต้องยอมรับว่าแม้แต่สมาชิกสวรรค์ก็มีสิทธิ์ทำผิดได้เช่นเดียวกันกับมนุษย์ สมาชิกสวรรค์ที่ดีเราเรียกว่า "เทวดา" สมาชิกสวรรค์ที่ร้ายเราเรียกว่า ผีหรือปีศาจ ธรรมเนียมที่สอนให้เราเรียกหาเทวดานั้นจึงหมายถึงให้เรียกหาเทวัญที่ดีมาช่วยปกป้องคุ้มครองเรา แต่ปัญหาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเทวัญองค์ไหนดีองค์ไหนร้าย? คำตอบคือยากมาก และเช่นนี้เองจึงลำบากและวุ่นวายยิ่งในธรรมเนียมการให้ความเคารพต่อสมาชิกชาวสวรรค์ดังกล่าว แต่ผู้รู้ก็ชี้แนะว่า เทวัญใดที่นำเราไปสู่พระเจ้านั่นคือเทวดา เทวัญไหนที่พาเราเข้าหาตัวเองและตกเป็นทาสของมันเทวัญนั้นคือ ปีศาจ มันจะครอบครองเจตจำนงเสรีของเราและไม่ให้เรามีอิสรภาพในการตัดสินใจเลือกตามใจได้ จากจุดนี้เองก็พอที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาที่เราพบทั่วไปในเมืองไทยคือ ปัญหาการเข้าทรง ที่มักจะมีคำถามว่า ไปเข้าทรงผิดหรือไม่ เป็นบาปหรือไม่?

เทพ กับ เจ้า รู้ได้อย่างไรว่าดีหรือร้าย?

ในเมืองไทยเรายังอยู่ในบรรยากาศของสิ่งลี้ลับอยู่มาก คาทอลิกหลายคนเมื่อมีปัญหาชีวิตก็มักไปหาทางระบายด้วยการไปถามเจ้าที่เข้าทรง หรือไปรับการประทับจากจิตวิญญาณที่เรียกตัวเองว่าเจ้านั้นเสียเอง มากเข้าก็กลายเป็นสานุศิษย์ของเจ้าหรือจิตนั้นไปโดยปริยาย เขากลายเป็นผู้ทำนายทายทักต่างๆนาๆ ลืมความเป็นลูกของพระเจ้าไปเสียสิ้น อย่างที่กล่าวแล้วว่า เหล่าสมาชิกสวรรค์นั้นหลงผิด หรือทำผิดได้เพราะเขามีเจตจำนงเสรีที่จะยอมรับหรือปฏิเสธพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ได้ สงครามในสวรรค์จึงเกิดขึ้น (ดังที่หลายคนเชื่อว่าทุกวันนี้เราก็ยังอยู่ในระหว่างสงครามระหว่างความดีกับความชั่วนั่นเอง)

คาทอลิกเราห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับจิตใดๆที่ไม่ใช่เทวดา ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่า เทพ หรือเจ้า หรือ พระ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากในระยะยาวมันทำให้เราหลงหันหนีหรือห่างจากพระเจ้าซึ่งเป็นพระผู้สูงสุดของเทพทั้งปวงแล้ว เราถือว่าเทวัญหรือเทพหรือจิตเหล่านั้นอยู่ในหมู่ของซาตานหรือปีศาจทั้งสิ้น วิธีการของมันคือจะช่วยเราให้สมใจในทุกสิ่ง ช่วยรักษา ช่วยบรรเทาปัญหาทุกอย่างแต่สุดท้ายเราต้องทิ้งเจตจำนงเสรีหรือทิ้งเสรีภาพแห่งการตัดสินใจของเราไป ตกอยู่ในอำนาจของมัน ทิ้งมันไม่ได้ นั่นล่ะธาตุแท้ของเทวดาปลอมที่ จะปรากฏออกมา ทางที่ดีที่สุดคืออย่าไปใกล้มันหรือให้โอกาสมันเลย

ธรรมเนียมที่ควรรื้อฟื้น

เมืองไทยเรามักจะให้น้ำหนักและความสำคัญกับคำว่า ผี มากเกินไปมากกว่าคำว่า เทวดา เสียอีก คำว่าผีนั้นมีนัยยะของอันตรายและความชั่วร้ายแฝงอยู่ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะมองจิตทั้งหลายในทางที่ดี มองด้วยสายตาที่ว่าเราอยู่ร่วมโลกเดียวกัน (แม้จะคนละมิติ) นอกจากนั้นมนุษย์เราเองก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเทวดาเลย นักบุญโทมัสบอกว่า เทวดานั้นต่างกันที่ระดับความรักและเคารพต่อพระเจ้า โดยธรรมชาติเทวดาเป็นจิตเหมือนกัน แต่สูงต่ำอยู่ที่การรักพระเจ้ามากน้อยต่างกัน จากจุดนี้เองมนุษย์สามารถยกระดับตัวเองให้สูงกว่าเทวดาได้หากเราให้พระเจ้ามามีบทบาทในชีวิตมากกว่าสิ่งอื่นใด รักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ ให้น้ำพระทัยของพระเจ้ามาก่อน แสวงหาสิริมงคลของพระองค์ในแต่ละวัน อุทิศชีวิตเพื่อความดีงามของพระเจ้า นำพาผู้อื่นมาสู่พระเจ้าผู้ทรงเป็นความดีงามและความจริง บทบาทเช่นนี้ถ้าหากเราทำได้ชัดเจนเราก็ยกระดับของตัวเองให้สูงส่งยิ่งกว่าเทวดาและเราจะใกล้ชิดพระเจ้ายิ่งกว่าเทวดาบางหมู่คณะด้วยซ้ำไป

ธรรมเนียมเช่นนี้เองที่เราสั่งสอนกันมาและน่าจะนำมารื้อฟื้นกันใหม่ การวอนขอเทวดาไม่ใช่สิ่งที่ไม่เสียหายอะไร ตรงข้ามควรส่งเสริม กระนั้นก็ตามแทนที่เราจะพึ่งเทวดาในทุกสิ่งทุกอย่าง หากเราเอาหน้าที่ของเทวดามาปฏิบัติเองก็จะยิ่งช่วยยกฐานะของเราให้สูงขึ้นเทวดาทั้งปวงคงไม่ริษยาหรอกแถมจะยำเกรงเราด้วยซ้ำไป แต่ก็ต้องตระหนักว่าหน้าที่นั้นต้องมีเป้าหมายอยู่ที่พระเจ้า ให้พระองค์เป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง เหนือทุกสิ่ง และเราต้องไม่ลืมว่าเราคือมนุษย์ เป็นสิ่งสร้าง เราไม่มีวันที่จะเป็นเหมือนพระเจ้าได้ เพราะถ้าเราหลงในความดีของตัวเองเราก็จะไม่ผิดอะไรกับซาตานหรือเทวัญตกสวรรค์นั่นเอง และถ้าเราเป็นเหมือนปีศาจในคราบมนุษย์เช่นนี้แล้ว เราจะอยู่ในหมวดใดของของสมาชิกอาณาจักรสวรรค์ที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาประกาศเล่า?

สรุป
เทวดาไม่จำเป็นต้องมีปีก เพราะนั่นเป็นเพียงจินตนาการของศิลปินและนักวาดภาพ เทวดาดีๆในภาพของมนุษย์มีอยู่รอบตัวเรา ขอเพียงมองพี่น้องรอบข้างด้วยสายตาของการมองหาเทวดา มองทุกคนด้วยมิติของสวรรค์แล้วเราจะพบว่าเทวดาอยู่ใกล้ชิดเรายิ่งกว่าที่เรานึกเสียอีก........ ข้าแต่อารักขเทวดา พระเจ้าทรงกรุณามอบข้าพเจ้าไว้ในความอารักขาของท่านโปรดส่งสว่าง พิทักษ์รักษาและคุ้มครองข้าพเจ้าในวันนี้ด้วยเถิด อาแมน

(แหล่งอ้างอิง : Encyclopedia of Catholicism)