วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จิตวิทยา : ความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และความจำ


               หลาย ๆ คนคงมีความขุ่นข้องหมองใจ  ในเวลาที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่รุมล้อมเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย  “ทำไมเราถึงเกิดมารันทดยิ่งนัก  ชีวิตจะไม่เจอเรื่องดี ๆ บ้างหรือไง” คงจะเป็นประโยคยอดฮิตสำหรับใครหลาย ๆ คน  ผมจึงขอเสนองานทดลองเกี่ยวกับจิตวิทยาเรื่องหนึ่ง  ให้ลองอ่านกันดู

               ปกติการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจิตวิทยานั้นมีมานานนับร้อย ๆ ปีแล้ว  จนกระทั่งปี 1950 ได้มีการสนใจในเรื่องของสมอง  คือเหล่านักวิชาการทั้งหลายแหล่  ได้ศึกษาลักษณะของความจำ  ทั้งความจำระยะสั้น  และความจำระยะยาว  ว่าความจำทั้งสองแบบนี้  มีการจัดเก็บ  และเรียกใช้ความจำนั้นได้อย่างไร  รวมถึงวิธีการที่ความจำของเรานั้นจะถูกลืม  และถูกบิดเบือนจากสมองเราด้วย!!  แต่ก็ช่างมันเถอะครับ  เพราะมันยังไม่ค่อยจะเกี่ยวกับหัวข้อนี้ซักเท่าไหร่  ฮาาาาาา…

               และในปี 1970 จากการศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับความจำต่าง ๆ  ก็เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติมากขึ้น   โดยมีนักจิตวิทยาเกิดความสงสัยว่า  เพราะเหตุใดความจำบางส่วนจึงสามารถถูกเก็บและเรียกใช้ได้ดีกว่าความทรงจำอีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งหนึ่งในนักจิตวิทยาชื่อดังในยุคนั้น นามว่า กอร์ดอน โบเวอร์  ได้สังเกตเห็นว่า  อารมณ์ของคนเรานั้นดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อความจำของเราด้วย

               กอร์ดอนจึงได้นำความสนใจนี้มาศึกษาในคนกลุ่มหนึ่ง  โดยให้จำรายการคำศัพท์ในช่วงที่มีอารมณ์แตกต่างกัน (โกรธ โมโห ตกหลุมรัก ฯลฯ)  หลังจากนั้นก็ให้คนกลุ่มนี้นึกคำศัพท์ที่ให้จำในแต่ละอารมณ์เช่นกัน

               จากนั้นเขาได้เปิดเผยงานศึกษาวิจัยของเขาซึ่งเรียกว่า “mood dependent retrieval”  หรือแปลเป็นไทยว่า การฟื้นความจำที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ (แปลเอง)  ซึ่งมีเนื้อหาหลัก ๆ คือ  อะไรก็ตามที่เราได้รับรู้ หรือได้จำในขณะที่เรามีความทุกข์  เราจะนึกถึงมันได้อีกครั้ง  เมื่อเราเกิดความทุกข์ซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ กัน  งานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่า มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะทางอารมณ์และสิ่งที่เกิดรอบ ๆ ตัวเรา   ข้อมูลและอารมณ์เหล่านั้นจะมีความเชื่อมโยงกัน และถูกบรรจุไว้ด้วยกัน  มันจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะระลึกความจำที่เราเคยจำได้ในขณะที่เรามีอารมณ์เดียวกันในขณะนั้น

               และกอร์ดอนยังค้นพบว่า  อารมณ์ของเรานั้นมีส่วนในการจัดเก็บข้อมูลในสมองอีกด้วย  คือ  เขาสังเกตว่าในขณะที่เรากำลังมีความสุข   เราก็มักจะนึกถึงแต่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข   แต่ในทางกลับกัน  เมื่อเรารู้สึกเศร้า  สิ่งที่ทำให้เราหดหู่ใจ ก็จะทำให้เราพลอยนึกถึงแต่เรื่องไม่ดีที่เคยเกิดกับตัวเรา  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องหรือมีเรื่องที่คล้ายกับเหตุการณ์นั้นได้ง่ายขึ้น

               เขาพบว่า  คนที่มีความทุกข์  จะนึกถึงเรื่องแย่ ๆ ได้ดีกว่าคนที่มีความสุข  เมื่อได้อ่านเรื่องเศร้า ๆ  ซึ่งเขาเรียกว่า “mood-congruent processing” หรือเรียกว่า การประมวลผลที่สอดคล้องทางอารมณ์ (แปลเองอีกละ)  และสรุปว่า ความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีตในแต่ละช่วง หรือเรียกว่า “Episodic Memory” (ซึ่งไม่ใช่ความจำเกี่ยวกับคำศัพท์ หรือความจำเกี่ยวกับข้อเท็จจริง)  จะมีความเชื่อมโยงกันเป็นพิเศษในทางอารมณ์  เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราประสบมาจะถูกบรรจุอยู่ในความจำของเรา  รวมทั้งอารมณ์ของเราในขณะนั้นด้วย   เราจึงมักจะนึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เมื่อเรามีความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นกับเราอีกครั้ง

               หลายคนอาจจะยังมองไม่เห็นภาพ  ผมจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ  ที่คุณอาจจะไม่ได้ทันสังเกต  นั่นก็คือ  การที่เราฟังเพลงหรือ ดู MV ต่าง  ๆ  เรามักจะจำได้ว่า  ในตอนที่เรากำลังฟังเพลงหรือดู MV นี้  เรากำลังทำอะไรอยู่   เพลงที่เราฟังนี้  เรากำลังคบกับใคร  หรือว่าเราถูกใครหักอกมา หรืออาจจะเป็นเพลงที่เราฟังขณะกำลังนึงโปรเจคส่งอาจารย์อยู่ก็เป็นได้  เพราะว่าการที่เราฟังเพลงมักจะมีอารมณ์ร่วมกับเพลงอยู่เสมอ ๆ จริงมั้ยครับ?!

               ดังนั้น  เมื่อเราเข้าใจที่ไปที่มาของการฟื้นฟูความจำเหล่านี้  ก็อย่าไปคิดเลยคับว่าเราเกิดมาอาภัพ  ไม่เคยคิดจะเกิดเรื่องดี ๆ ในชีวิตบ้างเลย  ก็แน่ล่ะครับ  ในขณะที่เราเศร้า  เรื่องแย่ ๆ มันก็หลั่งไหลออกมาจากความทรงจำของเราเองโดยอัตโนมัติ  สิ่งที่ทำได้คือ  ปล่อยวาง  ให้อารมณ์ของคุณมันผ่าน ๆ ไป  ลอยไปกับสายลม  และความผิดหวัง หรือหนักอกหนักใจ ก็อย่าไปถือมันไว้เลยครับ  ถือไปก็หนักเปล่า ๆ    อ้าาาาาาาาาส์  พูดแล้วมันช่างรันทดยิ่งนัก


INFO: http://www.joinstick.net/psychology/mood-and-memory.html