วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ชนเผ่าพื้นเมืองในอินเดีย ปลูกสะพานต้นไม้จากภูมิปัญญา 500 ปี!


แม้โดยทั่วไป เรามักเรียกกระบวนการที่ทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เกิดขึ้นมาบนโลกว่า ‘การสร้าง’ แต่ในความเป็นจริงแล้วในกระบวนการสร้าง ก็มักแฝงไว้ด้วย ‘การทำลาย’ อยู่เสมอ แม้กระทั่งในสิ่งก่อสร้างที่ประกอบด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ ที่ก่อนจะนำมาใช้งานเป็นวัสดุก่อสร้างได้ ต้นไม้เหล่านั้นจะต้องถูกโค่นหรือตัดเสียก่อน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการฆ่าและเบียดเบียนชีวิต คงจะดีไม่น้อยหากเราจะสามารถสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ต้องทำลายชีวิตของต้นไม้เหล่านั้น และหนึ่งในตัวอย่างของสิ่งก่อสร้างจากไม้ ที่สร้างขึ้นโดยไม่เบียดเบียนชีวิตของต้นไม้ ตั้งอยู่ในป่าลึกอันห่างไกลของประเทศอินเดีย สิ่งก่อสร้างชิ้นนี้คือ สะพานข้ามลำห้วย ที่สร้างขึ้นจากต้นไม้ที่มีชีวิต

สะพานที่มีชีวิตนี้ สร้างโดยชาวเผ่ากะสิ (Khasi) ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในแถบรัฐเมฆาลัย (Meghalaya) รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันหนึ่งในสามของรัฐนี้ยังคงปกคลุมไปด้วยป่าไม้ เทคนิคการสร้างสะพานต้นไม้นี้ ชาวเผ่ากะสิได้รับมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมมาร่วม 500 ปี และสืบทอดกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น สะพานในลักษณะนี้จะสร้างขึ้นจากต้นยางอินเดีย (Ficus Elastica) โดยนำไม้มาพาดระหว่าง 2 ฝั่งลำธารที่มีต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่ จากนั้นจึงนำรากอากาศของต้นไม้พันรอบแกนไม้ที่พาด เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาประมาณ 15 ปี รากไม้เหล่านี้จะเจริญเติบโตจนกลายเป็นสะพานในที่สุด สะพานต้นไม้นี้มีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก สามารถรับน้ำหนักคนได้ถึง 50 คน และที่สำคัญในกระบวนการตั้งแต่เริ่มสร้างสะพานจนถึงใช้งานได้ ไม่มีการรบกวนธรรมชาติแม้แต่น้อย ไม่ต่างอะไรกับการปลูกต้นไม้ขึ้นสักต้น

สะพานที่ทำการ ‘ปลูก’ ขึ้นนี้ จึงถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สะท้อนให้เห็นถึงระบบโลกทัศน์ของชาวกะสิ ที่ดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูล และมองสิ่งก่อสร้างไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่ต้องได้รับการปลูกและดูแลจนงอกงามขึ้นมา สิ่งก่อสร้างของชาวกะสิจึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ อย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้











INFO: http://www.creativemove.com/architecture/tree-bridge/#ixzz2DOc36tWj