วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แผ่นดินไหวที่ภูเก็ต ทำคน กรุงเทพฯ หวิว


เหตุการณ์ล่าสุดที่ประชาชนชาวภูเก็ตต้องผวาไปกับอาการสั่นไหวของบ้านเรือน ก็คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ลึกลงไป 10 กิโลเมตร รุนแรง 4.3 ตามมาตราริกเตอร์
เรียกได้ว่าทำเอาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หนีตายกันโกลาหล เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็เพิ่งตื่นตกใจจากแผ่นดินไหวทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ความรุนแรง 8.6 ริกเตอร์ และมีการประกาศเตือนภัยสึนามิด้วย

ดูเหมือนเรื่องของภัยแผ่นดินไหว จะขยับเข้ามาใกล้ตัวเราเข้าไปทุกขณะ และการมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวบนเกาะดูแล้วเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก และใส่ใจกันเพิ่มมากขึ้น

กรมทรัพยากรธรณี ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านการสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง พบว่า ประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนใหญ่ๆ อยู่หลายแนวด้วยกัน สามารถจัดกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญได้ 3 แนว

ตามทิศทางการวางตัวและการเคลื่อนที่ คือ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ ที่ครอบคลุ่มพื้นที่ในประเทศไทยจำนวน 22 จังหวัด คือ
  1. รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่
  2. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอน และตาก
  3. รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตาก และกำแพงเพชร 
  4. รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย
  5. รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุม จ.ลำปาง และแพร่
  6. รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงราย และพะเยา
  7. รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน
  8. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์
  9. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี
  10. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และอุทัยธานี
  11. รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคาย และนครพนม
  12. รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา และ
  13. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และพังงา

มีข้อมูลที่ระบุถึง รอยเลื่อนองค์รักษ์ในจังหวัดนครนายกอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังเช่นกัน โดยพบว่ารอยเลื่อนองครักษ์นั้นมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่ปิง ที่พาดผ่านจ.นครสวรรค์ มาทาง จ.กำแพงเพชร ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ แนวดังกล่าว มีความยาว 50-100 กิโลเมตร และเมื่อ 600 ถึง 700 ปี ที่ผ่านมามีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า บริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์มาแล้ว และมีความเป็นไปได้ในการอุบัติซ้ำ พร้อมทั้งได้เสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย จากเดิมที่มี 13 แห่ง เป็น 14 แห่ง

แต่การจะระบุว่ารอยเลื่อนใดเป็น “รอยเลื่อนมีพลัง” (active fault) หรือไม่นั้น หน่วยสำรวจธรณีวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) ให้นิยามว่า ต้องเป็นรอยเลื่อนที่จะทำให้แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนที่อย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี

รอยเลื่อนที่น่าจับตาเนื่องจากพบว่ามีสติการเคลื่อนตัวบ่อยครั้งกว่ารอยเลื่อนอื่น ได้แก่
  1. รอยเลื่อนแม่จัน ครอบคลุม จ.เชียงรายและเชียงใหม่ เคยเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 5 ริกเตอร์
  2. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กับเขื่อนเขาแหลมและเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีการกล่าวถึงกันมาก รวมทั้งการเชื่อมโยงกับคำทำนายจากสารพัดโหร ในประเด็นจะทำให้เขื่อนที่จ.กาญจนบุรีแตก แล้วน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ
  3. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กับเขื่อนภูมิพล เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เคยเกิดแผ่นดินไหวที่มีความแรงถึง 5.9 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด และแรงสั่นสะเทือนส่งถึงกรุงเทพฯอย่างชัดเจน
  4. รอยเลื่อนแม่ปิง เป็นจุดที่สามารถส่งแรงสะเทือนมาถึงกรุงเทพ
  5. รอยเลื่อนองครักษ์ เป็นรอยเลื่อนที่มีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ในช่วง 700 ปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีกได้

เรื่องของการคาดการณ์ หรือการพยากรณ์แผ่นดินไหว ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ทางธรณีวิทยารายใด กล้าฟันธงชัดๆ ว่า จะเกิดครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ส่วนใหญ่จะนำเสนอด้วยการอ้างอิงหลักสถิติเป็นเกณฑ์

นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ในฐานะหัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. ได้สะท้อนมุมมองว่า สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้กับแผ่นเปลือกโลกที่ยังขยับตัวอยู่ แต่เรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างสูง คือ เรื่องของตัวอาคาร ที่ก่อสร้างมานาน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่โครงสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหว

โดยเฉพาะเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือดินชั้นล่างบริเวณกรุงเทพฯและหลายจังหวัดภาคกลางเป็นดินเลนที่อ่อนนิ่ม เมื่อมีแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวไกลๆส่งมาถึง ยิ่งเพิ่มแรงสะเทือนให้รุนแรงขึ้นไปอีก

เรื่องของดินอ่อนในกรุงเทพฯ เคยมีการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า เหมือนกับการนำเจลลี่ก้อนใหญ่ๆมาวางบนโต๊ะ แล้วลองเขย่าโต๊ะเบาๆ จะเห็นว่าแม้จะหยุดสั่นโต๊ะไปแล้ว แต่แรงกระเพื่อมของเจลลี่ยังคงสั่นไหวอย่างต่อเนื่อง หากเป็นของจริงว่ากันว่า ดินอ่อนจะเหมือนไมโครโฟนที่จะช่วยขยายเสียงให้ดังมากขึ้นไปอีก



INFO: http://www.voicetv.co.th/