วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
ไขปริศนาทำไมน้ำแข็งขั้วโลกใต้เพิ่มขณะที่ขั้วโลกเหนือละลาย
ปริมาณน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกกลับละลายจนเหลือปริมาณน้อยที่สุดในรอบหลายสิบปี ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จาก British Antarctic Survey ได้ทำการวิจัยเพื่อหาสาเหตุของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เทปปริศนาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่น้ำแข็งที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกาค่อยๆเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ในทางตรงกันข้าม น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกกลับละลายมากขึ้นเรื่อยๆ ยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้ใครหลายคนสงสัย และตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จาก British Antarctic Survey ได้อาศัยข้อมูล ที่มีการรวบรวมมาจากดาวเทียมของกองทัพสหรัฐฯตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มาวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมกับเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับความซับซ้อนของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ทิศทางของลมหนาวที่พัดผ่านทวีปแอนตาร์กติกาที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีผลทำให้น้ำแข็งก่อตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมาพบว่า มีปริมาณน้ำแข็งเพิ่มมากขึ้นถึง 17,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นที่ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน พื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของทวีปแอนตาร์กติกา ที่มีกระแสลมอุ่นจากเขตร้อนพัดผ่าน กลับประสบกับปัญหาน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว ไม่แตกต่างจากการละลายของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกมากนัก
นอกจากนี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ระหว่างขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาสมุทรอาร์กติก และขั้วโลกใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของทวีปแอนตาร์กติกา ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้การก่อตัวและการละลายของน้ำแข็งเกิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกัน เนื่องจากทวีปแอนตาร์กติกา เป็นทวีปที่ห้อมล้อมไปด้วยมหาสมุทร ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติก
ขณะที่ มหาสมุทรอาร์กติกถูกห้อมล้อมไปด้วยทวีปต่างๆ อย่างทวีปเอเชีย ทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ ดังนั้น ลมหนาวที่พัดผ่านมหาสมุทรอาร์กติก จึงพัดขึ้นฝั่งมากกว่า แตกต่างจากลมหนาวที่พัดผ่านทวีปแอนตาร์กติกา ที่จะต้องผ่านมหาสมุทรต่างๆก่อนจะมาถึงทวีปแอนตาร์กติกา ทำให้ลมหนาวทวีความรุนแรงมากขึ้น และช่วยให้เกิดการก่อตัวของน้ำแข็งเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ทวีปแอนตาร์กติกายังตั้งอยู่บนพื้นดินที่ปกคลุมด้วยชั้นน้ำแข็ง แต่มหาสมุทรอาร์กติกอยู่บนน้ำทะเลที่บางส่วนกลายเป็นน้ำแข็งหรือเรียกว่า ทะเลน้ำแข็ง ทำให้น้ำแข็งที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกามีความหนาเฉลี่ยถึง 2,450 เมตร แต่น้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติกมีความหนาเฉลี่ยเพียง 2-3 เมตรเท่านั้น ดังนั้น การละลายของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก จึงเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าน้ำแข็งที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกา
โดยนักวิทยาศาสตร์สรุปว่า ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนในมหาสมุทรอาร์กติก และทวีปแอนตาร์กติกานั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคนละลักษณะกัน โดยทวีปแอนตาร์กติกา จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและทิศทางของกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงไป มากกว่ามหาสมุทรอาร์กติก โดยจะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทวีปแอนตาร์กติกาในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน มากกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทรอาร์กติก
INFO: http://news.voicetv.co.th