วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555
การฝึกทำสมาธิแบบง่าย ๆ ประจำวัน และวิธีการทำบุญ
การฝึกทำสมาธิแบบง่าย ๆ ประจำวัน และวิธีการทำบุญ
การฝึกทำสมาธิแบบง่าย ๆ ประจำวันนี้ เป็นการฝึกสมาธิเบื้องต้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อฝึกอบรมจิตใจให้รวมเป็นพลังตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว จากกระแสจิตที่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในเรื่องราวที่มากระทบประจำวัน หรือว่าเกี่ยวกับการงานที่กระทำในชีวิตประจำวัน ทำให้กระแสจิตเกิดพลังเข็มแข็งมั่นคงไม่หวั่นไหวง่ายต่ออารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น
จิตใจของคนเรานั้นถ้าปล่อยให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ก็ทำให้พลังจิตอ่อนลง ๆ จนกลายเป็นคนใจอ่อน ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ จะทำอะไรก็ไม่ไว้ใจตนเอง ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าได้ฝึกอบรมจิตใจให้เป็นสมาธิมั่นคง อยู่กับอารมณ์เดียวตามที่ต้องการได้แล้ว กระแสจิตก็จะมีพลังมหาศาลสามารถนำไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้อเนกประการ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่บุคคลที่ทำงานด้วยการใช้สมองใช้สติปัญญา นักบริหาร ผู้นำหมู่คณะ และในการศึกษาเล่าเรียน นักเรียน นักศึกษา ที่มีจิตมั่นคง มีสมาธิดี ไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่านในขณะเรียน ย่อมเรียนวิชาการต่าง ๆ มีความเข้าใจดี และรวดเร็วถูกต้องตามความเป็นจริง มีความทรงจำได้แม่นยำดี ไม่ลืมเลือนง่าย
วิธีปฏิบัติตนก่อนทำสมาธิ
ผู้เริ่มทำสมาธิเบื้องต้นนั้น พึงจุดธูป เทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วนั่งคุกเข่าประณมมือกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยตามลำดับดังต่อไปนี้
วิธีนั่งทำสมาธิ
ผู้บำเพ็ญสมาธิพึงนั่งขัดสมาธิราบ คือ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือหงายไว้บนหน้าตัก ตั้งตัวตรงมองทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ 2 ศอก แล้วหลับตา มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ กำหนดลมหายใจเข้า – ออก พร้อมกับระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ขณะหายใจเข้า ให้กำหนดว่า “พุท” ขณะหายใจออก ให้กำหนดว่า “โธ” กำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมกับกำหนดพระพุทธคุณควบคู่กันไปอย่างนี้ตลอดการนั่ง ในระยะเริ่มแรกของการฝึกนั่งสมาธินั้น ผู้ที่เริ่มบำเพ็ญสมาธิ ควรนั่งบำเพ็ญสมาธิด้วยระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 10 – 15 นาทีต่อครั้งก่อน เมื่อภายหลังร่างกายเกิดความเคยชินต่อการนั่งแล้ว พึงเพิ่มเวลาให้มากขึ้นโดยลำดับ (กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล) สำหรับเวลาที่เหมาะสมกับการฝึกสมาธิที่สุดนั้น ได้แก่ เวลากลางคืน ก่อนนอน ซึ่งเป็นเวลาที่เงียบสงบเหมาะแก่การบำเพ็ญสมาธิ หลังจากนั่งบำเพ็ญสมาธิแล้วก่อนที่จะเลิกนั่งสมาธิ ควรกราบพระรัตนตรัยอีก 3 ครั้งก่อน แล้วจึงจะเลิก ให้ทุกท่านปฏิบัติเช่นนี้ไปตลอด จักเป็นการดีสำหรับการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ
การทำบุญใส่บาตร
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์อยู่ครองเรือนก็คือ จะต้องช่วยกันบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่และให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเอง และส่วนรวมตลอดถึงชาวโลกด้วย พระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหลายจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยปัจจัยที่ทายกทั้งหลายจัดถวาย หากทายกทั้งหลายไม่บริจาคปัจจัยช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์เมื่อใด เมื่อนั้นพระสงฆ์ก็จะดำรงชีพอยู่ไม่ได้ และพระพุทธศาสนาก็จะอันตรธานเสื่อมสูญไปโดยไม่ต้องสงสัย
การทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์เป็นประจำทุกวัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบำรุงพระพุทธศาสนา และช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ และให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปได้ตลอดกาลนาน การทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์นี้ นิยมจัดทำตามกำลังศรัทธา และตามความสามารถแห่งกำลังทรัพย์เท่าที่จะทำได้โดยไม่เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ เช่นการใส่บาตรวันละ 1 รูปบ้าง 2 รูปบ้างเป็นต้น
องค์ประกอบของการทำบุญให้ได้ผล
การทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ (หรือการทำบุญอื่น ๆ) ให้ได้ผลนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์คุณ 3 ประการ คือ
1. ปัจจัยวัตถุสิ่งของสำหรับทำบุญต้องเป็นของบริสุทธิ์
2. เจตนาของผู้ถวายต้องบริสุทธิ์ และ
3. พระภิกษุ สมาเณรที่รับก็ต้องเป็นผู้บริสุทธิ์
วิธีปฏิบัติในการใส่บาตรพระสงฆ์
เมื่อนำภัตตาหารออกจากบ้านไปเพื่อรอคอยการใส่บาตรนั้น พึงตั้งจิตว่าจะทำบุญใส่บาตรแก่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา โดยไม่เฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง การใส่บาตรแบบไม่เปรเจาะจงนี้ มีผลานิสงส์มากกว่าการตั้งใจใส่บาตรโดยเจาะจงแก่พระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ
คำอธิษฐานก่อนใส่บาตร(ทุกครั้ง)
ก่อนจะใส่บาตรนั้น พึงตั้งจิตอธิษฐาน โดยถือขันข้าวด้วยมือทั้งสอง นั่งกระโหย่ง ยกขันข้าวขึ้นเสมอหน้าผากแล้ว พึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ข้าวขาวเหมือนดอกบัว ยกขึ้นทูนหัว ตั้งใจจำนง ตักบาตรพระสงฆ์ ขอให้ทันพระศรีอารย์ ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบวงมาร ขอให้บรรลุพระนิพพาน ในอนาคตกาล เทอญฯ”
เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ลุกขึ้นยืน มือซ้ายถือขันข้าว มือขวาจับทัพพี ตักข้าวให้เต็มทัพพี บรรจงใส่ให้ตรงบาตร อย่าให้เมล็ดข้าวหล่นออกมานอกบาตร ถ้าเมล็ดข้าวติดทัพพี อย่าเอาทัพพีเคาะกับขอบบาตร ควรตักข้าวให้เต็มทัพพี (อย่ากลัวหมด) ขณะที่ใส่บาตรนั้น อย่าชวนพระสนทนา อย่าถามพระ เช่น ท่านชอบฉันอาหารนี้ไหม? หรือท่านต้องการเพิ่มอีกไหม? เป็นต้น ถ้ามีดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องบูชา ผู้ชายนิยมถวายกับมือพระ ส่วนผู้หญิงนิยมถวายไว้บนฝาบาตรเมื่อท่านรับอาหารเสร็จแล้ว
การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
เมื่อใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นิยมทำอีกอย่างก็คือ การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลที่กระทำไปให้แก่บรรพชนผู้ที่ล่วงลับไป โดยกล่าวคำกรวดน้ำแบบย่อดังนี้ “อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย” ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า จงมีความสุขฯ
INFO: http://www.buddhamongkol.com/web/samathi.htm