เหตุการณ์ล่าสุดที่ประชาชนชาวภูเก็ตต้องผวาไปกับอาการสั่นไหวของบ้านเรือน ก็คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวศูนย์กลางอยู่บริเวณอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ลึกลงไป 10 กิโลเมตร รุนแรง 4.3 ตามมาตราริกเตอร์
เรียกได้ว่าทำเอาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หนีตายกันโกลาหล เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็เพิ่งตื่นตกใจจากแผ่นดินไหวทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ความรุนแรง 8.6 ริกเตอร์ และมีการประกาศเตือนภัยสึนามิด้วย
ดูเหมือนเรื่องของภัยแผ่นดินไหว จะขยับเข้ามาใกล้ตัวเราเข้าไปทุกขณะ และการมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวบนเกาะดูแล้วเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก และใส่ใจกันเพิ่มมากขึ้น
กรมทรัพยากรธรณี ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านการสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง พบว่า ประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนใหญ่ๆ อยู่หลายแนวด้วยกัน สามารถจัดกลุ่มรอยเลื่อนที่สำคัญได้ 3 แนว
ตามทิศทางการวางตัวและการเคลื่อนที่ คือ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ ที่ครอบคลุ่มพื้นที่ในประเทศไทยจำนวน 22 จังหวัด คือ
- รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่
- รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอน และตาก
- รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตาก และกำแพงเพชร
- รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย
- รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุม จ.ลำปาง และแพร่
- รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงราย และพะเยา
- รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน
- รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์
- รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี
- รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และอุทัยธานี
- รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคาย และนครพนม
- รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา และ
- รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และพังงา
มีข้อมูลที่ระบุถึง รอยเลื่อนองค์รักษ์ในจังหวัดนครนายกอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังเช่นกัน โดยพบว่ารอยเลื่อนองครักษ์นั้นมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่ปิง ที่พาดผ่านจ.นครสวรรค์ มาทาง จ.กำแพงเพชร ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ แนวดังกล่าว มีความยาว 50-100 กิโลเมตร และเมื่อ 600 ถึง 700 ปี ที่ผ่านมามีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า บริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์มาแล้ว และมีความเป็นไปได้ในการอุบัติซ้ำ พร้อมทั้งได้เสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย จากเดิมที่มี 13 แห่ง เป็น 14 แห่ง
แต่การจะระบุว่ารอยเลื่อนใดเป็น “รอยเลื่อนมีพลัง” (active fault) หรือไม่นั้น หน่วยสำรวจธรณีวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) ให้นิยามว่า ต้องเป็นรอยเลื่อนที่จะทำให้แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนที่อย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี
รอยเลื่อนที่น่าจับตาเนื่องจากพบว่ามีสติการเคลื่อนตัวบ่อยครั้งกว่ารอยเลื่อนอื่น ได้แก่
- รอยเลื่อนแม่จัน ครอบคลุม จ.เชียงรายและเชียงใหม่ เคยเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 5 ริกเตอร์
- รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กับเขื่อนเขาแหลมและเขื่อนศรีนครินทร์ ที่มีการกล่าวถึงกันมาก รวมทั้งการเชื่อมโยงกับคำทำนายจากสารพัดโหร ในประเด็นจะทำให้เขื่อนที่จ.กาญจนบุรีแตก แล้วน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ
- รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี ตาก และอุทัยธานี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กับเขื่อนภูมิพล เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เคยเกิดแผ่นดินไหวที่มีความแรงถึง 5.9 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด และแรงสั่นสะเทือนส่งถึงกรุงเทพฯอย่างชัดเจน
- รอยเลื่อนแม่ปิง เป็นจุดที่สามารถส่งแรงสะเทือนมาถึงกรุงเทพ
- รอยเลื่อนองครักษ์ เป็นรอยเลื่อนที่มีหลักฐานทางธรณีวิทยาว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ในช่วง 700 ปีที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีกได้
เรื่องของการคาดการณ์ หรือการพยากรณ์แผ่นดินไหว ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ทางธรณีวิทยารายใด กล้าฟันธงชัดๆ ว่า จะเกิดครั้งใหญ่ขึ้นเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร ส่วนใหญ่จะนำเสนอด้วยการอ้างอิงหลักสถิติเป็นเกณฑ์
นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ในฐานะหัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. ได้สะท้อนมุมมองว่า สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้กับแผ่นเปลือกโลกที่ยังขยับตัวอยู่ แต่เรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างสูง คือ เรื่องของตัวอาคาร ที่ก่อสร้างมานาน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่โครงสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหว
โดยเฉพาะเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือดินชั้นล่างบริเวณกรุงเทพฯและหลายจังหวัดภาคกลางเป็นดินเลนที่อ่อนนิ่ม เมื่อมีแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวไกลๆส่งมาถึง ยิ่งเพิ่มแรงสะเทือนให้รุนแรงขึ้นไปอีก
เรื่องของดินอ่อนในกรุงเทพฯ เคยมีการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า เหมือนกับการนำเจลลี่ก้อนใหญ่ๆมาวางบนโต๊ะ แล้วลองเขย่าโต๊ะเบาๆ จะเห็นว่าแม้จะหยุดสั่นโต๊ะไปแล้ว แต่แรงกระเพื่อมของเจลลี่ยังคงสั่นไหวอย่างต่อเนื่อง หากเป็นของจริงว่ากันว่า ดินอ่อนจะเหมือนไมโครโฟนที่จะช่วยขยายเสียงให้ดังมากขึ้นไปอีก