วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อาการย้ำคิดย้ำทำ



อาการย้ำคิด (Ob session) คือ การมีความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองซ้ำๆ โดยไร้เหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก เช่น คิดซ้ำๆ ว่าจะทำร้ายหรือทำสิ่งไม่ดีกับคนที่ตนรัก คิดซ้ำๆ ว่าลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดซ้ำๆ ว่า ลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อกประตู เป็นต้น โดยที่ตนเองก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงเกิดความคิดเช่นนั้น

อาการย้ำทำ (Com pulsion) คือ พฤติกรรมหรือการกระทำบางอย่างซ้ำๆ เพื่อป้องกันหรือช่วยลดความไม่สบายใจจากความย้ำคิดข้างต้น และเป็นการกระทำที่ตนเองก็รู้สึกได้ว่าไร้เหตุผล ไร้สาระที่จะกระทำ แต่ก็หักห้ามจิตใจไม่ให้ทำไม่ได้ เช่น เช็ก ลูกบิดประตูหรือวาล์วแก๊สซ้ำๆ เพื่อให้แน่ใจว่าปิดเรียบ ร้อยแล้ว ล้างมือซ้ำเพราะคิดว่ามือสกปรก เป็นต้น

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไปพบแพทย์ฝ่ายกายมากกว่ามาพบจิตแพทย์โดยตรง อาการที่นำมาพบแพทย์ได้บ่อยๆ เช่น แผลถลอกที่มือ มือเปื่อย เหงือกอักเสบจากการแปรงฟันบ่อยๆ ในผู้ป่วยเด็กพ่อแม่อาจพามาตรวจด้วยปัญหาพฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็ก

ในผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์โดยตรงมักมาด้วยอาการย้ำคิดเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด ความ เป็นระเบียบเรียบร้อย พฤติกรรมทางเพศ และพฤติกรรมรุนแรง และอาการย้ำทำ เช่น ตรวจเช็กกลอนประตู ถามเรื่องเดิมซ้ำซาก ล้างมือ นับสิ่งของ การจัดวางของให้เป็นระเบียบซ้ำๆ ผู้ป่วยบางรายมาด้วยอาการย้ำคิดหลายๆ เรื่อง หรือย้ำทำหลายๆ พฤติกรรม ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก

 
สาเหตุการเกิดของโรคนี้มีอยู่ 2 ปัจจัยหลักใหญ่ แบ่งเป็น

1.ปัจจัยด้านชีวภาพ พบว่าในผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำมีความ ผิดปรกติของสารสื่อประสาทบางชนิด เช่น สารซีโรโตนิน การทำงานของสมองส่วนหน้า (frontal lobe) caudate และ cingulum เพิ่มมากกว่าปรกติ รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

2.ปัจจัยด้านจิตใจ ผู้ป่วยอาจมีความขัดแย้งในระดับจิต ใต้สำนึก และพยายามใช้กลไกทางจิตเพื่อจัดการกับความตึง เครียดในใจ แต่ไม่ได้ผล กลับส่งผลให้เกิดการแสดงออกเป็นอาการดังกล่าว

ลักษณะการดำเนินโรคนั้น ส่วนใหญ่อาการมักเป็นอย่างเฉียบพลัน ร้อยละ 50-70 มีความเครียดนำมาก่อน เช่น การตั้งครรภ์ ปัญหาทางเพศ ญาติ หรือคนใกล้ชิดตายจากไป

แม้ว่าคนเป็นโรคนี้จะป่วยเรื้อรัง แต่หลังจากได้รับการรักษาแล้ว กว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วย มีอาการดีขึ้นมากจนใช้ชีวิตได้เกือบปรกติ คงเหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่อาการคงเดิมหรืออาจแย่ลง

การรักษาที่ดีที่สุดคือ การใช้พฤติกรรมบำบัด ร่วมกับยาแก้โรคย้ำคิดย้ำทำ

1.ยาแก้โรคย้ำคิดย้ำทำ ยาเหล่านี้ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทซีโรโตนินจนเป็นปรกติ ซึ่งหลังจากรักษาอาการเป็นปรกติแล้ว แพทย์ยังต้องให้การรักษาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นอีกระยะหนึ่งจึงหยุดยา

2.พฤติกรรมบำบัด โดยให้ฝึกเผชิญกับสิ่งที่กังวลหรือกลัว (Exposure therapy) อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ร่วมกับการพยายามไม่ให้สนใจอาการของโรค และหาวิธีป้องกันการกระทำซ้ำๆ (Response prevention) ทั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับไปทำหน้าที่ตามเดิมให้ได้มากที่สุด


ที่มา : ผศ.นพ.สมบัติ ศาสตร์รุ่งภัค