วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 10 กันยายน ของทุกปีเป็น

ดอกสะมาเรีย สัญลักษณ์การป้องกันการฆ่าตัวตาย

องค์การอนามัยโลก รายงานตัวเลขที่น่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับสถิติ การฆ่าตัวตาย พบว่า ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน โดยเฉลี่ยแล้วจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คนในทุก 40 วินาที และทุก ๆ 1 รายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ มักจะมีญาติใกล้ชิดอีกกว่า 20 รายพยายามฆ่าตัวตายตาม

ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวทำให้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ วันที่ 10 กันยายน ของทุกปีเป็น วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก หรือ World Suicide Prevention Day โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 ในแต่ละปีจะมีคำขวัญเพื่อการรณรงค์ในมิติต่าง ๆ

ในปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกไว้ว่า Suicide Prevention across the Globe : Strengthening Protective Factors and Instilling Hope

ถอดความเป็นภาษาไทยว่า การป้องกันการฆ่าตัวตายทั่วโลก : เพิ่มปัจจัยปกป้องและให้พลังแห่งความหวัง

ข้อมูลการฆ่าตัวตายของ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2554 มีคนไทยฆ่าตัวตายทั้งสิ้น 3,873 ราย แยกเป็น ชาย 2,985 คน และหญิง 888 คน คิดเป็น 6.03 คนต่อประชากรแสนคน

เป็นที่น่าสังเกตว่า 10 จังหวัดที่มีสถิติคนฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นจังหวัดภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่างแทบทั้งสิ้น ดังต่อไปนี้ ลำพูน ระยอง เชียงใหม่ น่าน เชียงราย พะเยา เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ แพร่ และอุตรดิตถ์ คงมีเพียงเมืองชายทะเลตะวันออกระยองจังหวัดเดียวที่สอดแทรกขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2

เสียดายจากข้อมูลไม่ได้ให้รายละเอียดว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาอะไรบ้าง...???

ทว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนทั่วโลกและคนไทยฆ่าตัวตายล้วนเกิดจากการเป็น โรคซึมเศร้า มาก่อนแทบทั้งนั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังในไทย มีเพียงร้อยละ 3.94

แสดงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน จะเข้าถึงบริการได้รับการรักษาเพียง 3 คน…!!!

เป็นผลให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า...!!!

หากปัญหาโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการแก้ไข อาจพบว่าสังคมไทยจะมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในอนาคต

เทียบกับอัตราฆ่าตัวตายของโลกค่าเฉลี่ยไม่เกิน 6.5 คนต่อประชากรแสนคน อัตราเสี่ยงมีค่าอยู่ระหว่าง 6.5-13 และอัตราฆ่าตัวตายสูงมีค่ามากกว่า 13 คนต่อประชากรแสนคน

ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในเกณฑ์สูงมาก เช่น ญี่ปุ่น มีสถิติอยู่ที่ 24.1 คน ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ศรีลังกา 21.6 คน สหรัฐอเมริกา 10.5 คน สวีเดน 13.5 คนต่อประชากรแสนคน

นับว่ายังเป็นข่าวดีอยู่บ้างที่ในรอบ 7 ปีมานี้ สถิติการฆ่าตัวตายของไทยไม่ถึง 6.5 ต่อประชากรแสนคน อาจจะมีช่วงหลัง วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2542 ที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 8.6 ต่อประชากรแสนคน แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ลดลงตามลำดับ ในข่าวดีก็ยังมีข่าวร้ายปนอยู่บ้างเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลบ่งชี้ว่า ช่วงอายุขัยของคนที่ฆ่าตัวตายยังคงมีสูงในช่วงอายุตั้งแต่ 20-59 ปี ซึ่งคนวัยนี้ถือเป็นประชากรใน วัยทำงาน ที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

INFO: http://www.dailynews.co.th